ระบบสุริยะอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก โดยมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายระบบสุริยะมาตั้งแต่อดีต ซึ่งแบบจำลองที่น่าสนใจ ได้แก่ แบบจำลองระบบสุริยะของปโตเลมี โคเพอร์นิคัส และเคปเลอร์
แบบจำลองระบบสุริยะ
ดวงดาวแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ ดวงดาวที่สังเกตเห็นอยู่นิ่งและเกาะกลุ่มกันอยู่ในตำแหน่งเดิม เรียกว่า ดาวฤกษ์ และดวงดาวที่เคลื่อนที่และเปลี่ยนตำแหน่งอยู่เสมอ เรียกว่า ดาวเคราะห์
ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของดาวเคราะห์ ดวงจันทร์รวมทั้งวัตถุอื่น ๆ เนื่องจากดวงอาทิตย์ส่งแรงดึงดูดกระทำต่อดวงดาวเหล่านั้นจึงทำให้เกิดระบบสุริยะขึ้น
ปโตเลมี สร้างแบบจำลองเพื่อแสดงว่าโลกเป็นศูนย์กลางของทุก ๆ สิ่ง เนื่องจากเขาเชื่อว่าดวงอาทิตย์และวัตถุอื่น ๆ ในท้องฟ้าโคจรรอบโลก
ต่อมาประมาณ ๑,๔๐๐ ปี หลังจากสมัยของปโตเลมี โคเพอร์นิคัส ได้เผยแพร่แบบจำลองที่แสดงว่าดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งโลกโคจรเป็นวงกลมรอบดวงอาทิตย์
ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ โยฮันเนส เคปเลอร์ ได้สร้างแบบจำลองที่แสดงว่าดาวเคราะห์และเทหวัตถุต่าง ๆ เดินทางเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ และใช้แบบจำลองนี้จนถึงปัจจุบัน